ระเบียบข้อบังคับของสมาคม

สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

เกี่ยวกับสมาคม

ข้อบังคับ สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ข้อ 1. ชื่อสมาคม
สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์” อักษรย่อ ส.ค.พ.ท. แปลเป็นภาษาอังกฤษว่า THE COMPUTER ASSOCIATION OF THAILAND UNDER THE ROYAL PATRONAGE OF HIS MAJESTY THE KING” ใช้อักษรย่อว่า “ CAT “ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า “สมาคม”

ข้อ 2.ตราสมาคม
ตราสมาคมนี้ มีสัญลักษณ์เป็นรูปเทปแม่เหล็ก ประกอบด้วยภาษาอังกฤษ CAT สีฟ้าภายในตัวมีเส้นรัศมีแม่เหล็กเป็นวงกลมสีดำ 4 เส้น เรียงกันใหญ่เล็กตามลำดับและสีแดง 2 เส้น ภายในเป็นรูปวงแหวนแม่เหล็กสีดำตัดกันเส้นขดลวดสีแดงตั้งขนาน 2 เส้น ทะแยง 2 เส้นตัดกัน และบน AT มีอักษรย่อ ส.ค.พ.ท. สีดำรวมกันเป็นเครื่องหมายของสมาคม

ข้อ 3.สำนักงาน
สำนักงานของสมาคมตั้งอยู่ที่ 128/61 อาคารพญาไทพลาซ่า ชั้น 6 ถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400

ข้อ 4. วัตถุประสงค์
สมาคมมีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
(1) เพื่อส่งเสริมการศึกษาและวิจัยทางด้านวิธีใช้ การประกอบและการผลิต ระบบคอมพิวเตอร์
(2) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการ การสอน วิวัฒนาการ ประสบการณ์ และปัญหาของการใช้คอมพิวเตอร์
(3) เพื่อจัดให้มีการสัมมนา สาธิตและฝึกอบรม ตลอดจนการประยุกต์ วิชาการคอมพิวเตอร์ในวิชาชีพสาขาต่าง ๆ
(4) เพื่อส่งเสริมวิชาชีพในการประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ให้กว้างขวางและ เป็นประโยชน์ต่อสังคม
(5) เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์แก่ประชาชนและหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีหรือประสงค์จะใช้คอมพิวเตอร์
(6) เพื่อเป็นศูนย์กลางการติดต่อกับสถาบัน องค์การสมาคมที่เกี่ยวข้องกับ คอมพิวเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ
(7) เพื่อเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำการพัฒนาหลักสูตรทางด้านการศึกษาและเทคโนโลยีสารสนเทศ ตลอดจนการวิจัยทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ

ข้อ 5.ประเภทสมาชิก
สมาชิกมีอยู่ 3 ประเภท คือ
(1) สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ บุคคลที่คณะกรรมการสมาคมพิจารณา เห็นเหมาะสม และสมควรที่จะเชิญเข้าเป็นสมาชิก
(2) สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ที่มีความสนใจในวิชาคอมพิวเตอร์หรือผู้ที่มีวิชาชีพ เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ซึ่งได้สมัครเป็นสมาชิกสามัญตามระเบียบของสมาคม และสมาคมได้รับเข้าเป็นสมาชิกสามัญ
(3) สมาชิกสถาบัน ได้แก่ สถาบัน องค์การ สมาคม หน่วยราชการ และบริษัทห้างร้านต่าง ๆ ซึ่งได้สมัครเข้าเป็นสมาชิกสถาบันตามระเบียบของสมาคม และสมาคมได้รับเข้าเป็นสมาชิกสถาบัน

ข้อ 6. การเข้าเป็นสมาชิก
(1) ผู้สมัครต้องยื่นใบสมัคร เข้าเป็นสมาชิกสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยต่อนายกสมาคมฯ
(2) สมาชิกภาพของผู้สมัครเป็นสมาชิกสมาคม จะสมบูรณ์ต่อเมื่อคณะกรรมการลงมติรับเข้าเป็นสมาชิกภาพแล้ว จึงจะเป็นสมาชิกของสมาคมได้

ข้อ 7. ค่าบำรุง
(1) ค่าสมัครเป็นสมาชิก 10.00 บาท (สิบบาทถ้วน)
(2) สมาชิกสามัญ ค่าบำรุงปีละ 200.00 บาท (สองร้อยบาทถ้วน)
(3) สมาชิกสถาบัน ค่าบำรุงปีละ 500.00 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
(4) สมาชิกสถาบันตลอดชีพ ให้เสียค่าบำรุง 10 เท่า ของอัตราที่ต้องเสียเป็นรายปี

ข้อ 8. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
(1) มีสิทธิประดับเครื่องหมายของสมาคมได้
(2) มีสิทธิได้รับวารสารของสมาคม
(3) มีสิทธิเข้าร่วมประชุมสามัญประจำปี ร่วมการสัมมนาหรือกิจการต่าง ๆ ที่สมาคมจัดขึ้น
(4) สมาชิกสามัญและสมาชิกสถาบัน ที่ชำระค่าบำรุงแล้วและมีอายุการเป็นสมาชิกก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปี ก่อนวันกำหนดเลือกตั้งกรรมการสมาคมมีสิทธิออกเสียงลงคะแนนเลือกกรรมการสมาคม
(5) สมาชิกสามัญที่ชำระค่าบำรุงแล้ว และมีอายุการเป็นสมาชิกก่อนวันที่ 1 ตุลาคมของปี ก่อนวันกำหนดเลือกตั้งกรรมการของสมาคมเท่านั้น มีสิทธิได้รับเลือกตั้งเป็นกรรมการสมาคม
(6) มีสิทธิเสนอความคิดเห็น เกี่ยวกับการดำเนินงานของสมาคม ต่อคณะกรรมการสมาคม
(7) ผู้แทนแต่ละสมาชิกสถาบันไม่เกิน 2 คน และสมาชิกสมทบมีสิทธิเข้าร่วมในกิจกรรมของสมาคมได้ทุกอย่าง
(8) มีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งเกียรติและมารยาทอันดีงามของสมาชิก
(9) มีหน้าที่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของสมาคม

ข้อ 9. การพ้นจากสมาชิกภาพ
สมาชิกจะพ้นจากสมาชิกภาพเนื่องด้วยเหตุดังต่อไปนี้
(1) ตาย
(2) ลาออก
(3) ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับของสมาคม
(4) มีความประพฤติเสียหาย ซึ่งที่ประชุมวิสามัญของสมาคมลงมติให้พ้นจากสมาชิกภาพด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ขององค์ประชุม
(5) ค้างชำระค่าสมาชิกเป็นเวลา 1 ปี

ข้อ 10. การประชุมใหญ่และการเลือกตั้งกรรมการสมาคม
(1) ให้สมาคมจัดให้มีการประชุมใหญ่ภายใน 90 วัน นับแต่วันสิ้นงวดบัญชี
(2) การนัดประชุมประจำปีของสมาคม ให้ทำเป็นหนังสือส่งตรงไปยังสมาชิกของสมาคมไม่น้อยกว่า 14 วัน ก่อนถึงวันประชุม
(3) ให้สมาชิกเลือกตั้งกรรมการจากสมาชิกสามัญเพื่อดำเนินกิจการของสมาคม 15 คน ทุก 4 ปี และให้ประธานของชมรมที่จัดตั้งขึ้นโดยสมาคมเป็นกรรมการเพิ่มขึ้นอีกชมรมละ 1 คน
(4) ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าเลือกเป็นกรรมการจะต้องมาประชุมในวันนั้น หรือมีหนังสือแสดงความยินยอมที่จะรับเป็นกรรมการ ถ้าหากได้รับเลือก
(5) องค์ประชุมใหญ่ จะต้องมีสมาชิกสามัญ และสมาชิกสถาบันของสมาคมมาประชุมไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 หรือไม่น้อยกว่า 100 คน ของจำนวนสมาชิกสมาคม ถ้ามีสมาชิกไม่ครบองค์ประชุมให้มีการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ภายหลังวันนัดประชุมครั้งแรกไม่น้อยกว่า 7 วัน แต่ไม่เกิน 15 วันในการประชุมใหญ่ครั้งที่ 2 ไม่ว่าสมาชิกจะมาประชุมจำนวนเท่าใด ให้ถือเป็นองค์ประชุมได้
(6) ให้คณะกรรมการสมาคม ประกอบด้วย นายกสมาคม อุปนายกสมาคม เลขาธิการ นายทะเบียน ปฏิคม เหรัญญิก และกรรมการตำแหน่งอื่น ๆ นอกจากนี้เป็นผู้ดำเนินการของสมาคม
(7) คณะกรรมการจะเชิญผู้ใดมาเป็นที่ปรึกษา หรือเชิญเป็นอนุกรรมการเฉพาะกิจของสมาคมก็ได้
(8) ให้กรรมการอยู่ในตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นกรรมการติดต่อกันได้ไม่เกิน 2 สมัย
(9) นายกสมาคมสามารถแต่งตั้งผู้ใดมาเป็นกรรมการสมาคมเพิ่มเติมจากที่ได้รับเลือกตั้งในข้อ10 (3) ได้อีกไม่เกิน 5 คน

ข้อ 11.อำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการ
(1) คณะกรรมการมีหน้าที่ดำเนินกิจการ เพื่อให้บรรลุถึงวัตถุประสงค์ของสมาคมที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ ในการนี้ให้คณะกรรมการมีอำนาจในการออกระเบียบของสมาคมได้ภายใต้ข้อบังคับนี้
(2) คณะกรรมการสมาคม มีอำนาจจ้างบุคคลเข้าปฏิบัติงานของสมาคมตามแต่จะเห็นสมควร
(3) คณะกรรมการสมาคมต้องประชุมปรึกษากิจการของสมาคม ไม่น้อยกว่า 1 ครั้งต่อ 2 เดือนและไม่น้อยกว่า 6 ครั้งต่อปี การประชุมทุกครั้งต้องมีคณะกรรมการสมาคมมาประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งจึงจะเป็นองค์ประชุม มติของกรรมการให้ถือเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ ถ้าคะแนนเท่ากันให้ประธานการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
(4) เป็นผู้รักษาระเบียบข้อบังคับของสมาคม และแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ด้วยคะแนนเสียง 2 ใน 3 ขององค์ประชุม ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกสามัญ และสมาชิกสถาบัน
(5) ในกรณีมีเรื่องด่วนและสำคัญ ให้คณะกรรมการสมาคมเรียกประชุมวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนั้น ๆ เป็นการด่วน โดยแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเป็นหนังสือ ไม่น้อยกว่า 7 วัน องค์ประชุมนี้ไม่ว่าสมาชิกจะมาประชุมจำนวนเท่าใด ให้ถือว่าเป็นองค์ประชุมได้
(6) กรรมการสมาคมผู้ใดขาดการประชุมติด ๆ กันเกิน 3 ครั้ง โดยไม่แจ้งให้คณะกรรมการทราบ เป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการประชุมจะพ้นสภาพจากการเป็นกรรมการสมาคม
(7) ถ้ากรรมการสมาคมผู้ใดพ้นจากตำแหน่งกรรมการโดยเหตุผลประการใดก็ตาม ให้กรรมการสมาคมเลือกตั้งสมาชิกสามัญผู้ใดดำรงตำแหน่งแทน

ข้อ 12.การเงิน
(1) เงินของสมาคม แบ่งเป็น 2 ประเภท
ประเภท 1 กองทุน
ประเภท 2 รายได้
(2) เงินของสมาคม ให้นำไปฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรรัฐบาลในบัญชีของ “สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย”
(3) การนำเงินกองทุนออกใช้จ่าย จะกระทำได้แต่โดยมติของคณะกรรมการสมาคมไม่ น้อยกว่า 3 ใน 4
(4) คณะกรรมการสมาคม มีอำนาจจ่ายเงินของสมาคม ตามระเบียบการเงินของสมาคม และร่วมกันรับผิดชอบในรายจ่ายนั้น ๆ เฉพาะปีที่ดำรงตำแหน่ง
(5) การจ่ายเงิน ให้นายกสมาคม และเหรัญญิกหรือเลขาธิการ ที่ไดรับมอบหมายจากคณะกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบและลงนามในเช็คจ่ายเงินของสมาคม และให้เหรัญญิกทำบัญชีรายจ่ายไว้เป็นหลักฐาน
(6) ให้แสดงบัญชีรายรับ-จ่าย และงบดุลของสมาคม ณ วันที่ 31 ธันวาคมต่อคณะกรรมการสมาคมปีละครั้งและเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ของสมาคมรับผิดชอบการแสดงภาระภาษีทั้งปวงและแถลงฐานะการเงินประจำเดือนต่อคณะกรรมการ
(7) ให้สมาชิกสามัญ และสมาชิกสถาบันเป็นผู้แต่งตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีสมาคม
(8) ในการประชุมกรรมการสมาคมให้สามารถเบิกจ่ายเบี้ยประชุมให้คณะกรรมการสมาคมเป็นรายครั้งในอัตราครั้งละไม่เกิน 2,500 บาท ต่อกรรมการ 1 คน

ข้อ 13.เบ็ดเตล็ด
เมื่อสมาคมล้มเลิกไปและเมื่อชำระบัญชีแล้ว ทรัพย์สินที่ยังเหลือจะโอนให้แก่ นิติบุคคลใดแล้วแต่ที่ประชุมใหญ่จะตกลง