เกี่ยวกับสมาคม

สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์

เกี่ยวกับสมาคม

สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ก่อกำเนิดขึ้นจากการรวมตัวกันของกลุ่มนักคอมพิวเตอร์ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2514 หลังจากการติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2506 ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และต่อมาปี พ.ศ. 2507 มีการติดตั้งและใช้งานอย่างกว้างขวางที่สำนักงานสถิติแห่งชาติงานแรกคือ งานประมวลผลสถิติโครงการ สำมะโนเกษตร คณะกรรมการบริหาร สมาชิกในระยะเริ่มแรกมีเพียง 30 กว่าคน ในปีเดียวกันมีการจัดตั้ง สมาคมวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ขึ้นมา มีวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งคล้ายคลึงกับของสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย เป็นผลให้เกิดความสับสนต่อบุคคลในวงการคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมาก จึงมีการรวมสมาคมทั้งสองขึ้นในปี 2518 มีการโอนสมาชิกตลอดจนทรัพย์สินทั้งหมดเข้ามารวมกับสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทยฯ จึงเป็นนิมิตหมายอันดีที่ทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันประสานประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่วงการคอมพิวเตอร์ของประเทศอย่างเต็มที่

สถานที่ทำการของสมาคมฯ เริ่มแรกตั้งอยู่ที่ศูนย์ประมวลผลด้วยเครื่องจักร สำนักงานสถิติแห่งชาติ ต่อมาย้ายไปที่อาคารราชตฤณมัย สมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนปี 2527 ย้ายมาอยู่ ณ ตึกสมาคมนิสิตเก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ด้านมูลนิธินิสิตเก่าจุฬาฯ ชั้น 2) โดยได้รับความอนุเคราะห์ด้านสถานที่จาก ศาสตราจารย์ ดร.บุญรอด บิณฑสันต์ ประธานมูลนิธินิสิตเก่าจุฬาฯตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้น สมาคมฯ ได้ดำเนินกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อวงการคอมพิวเตอร์และประเทศชาติ คือ มีการจัดฝึกอบรมด้านคอมพิวเตอร์ให้กับผู้สนใจทั่วไป ตั้งแต่ปี 2525 ที่ได้เปิดอบรมวิชาคอมพิวเตอร์ ขณะนั้นทางสมาคมฯ ยังไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์และสถานที่ ที่เหมาะสม จึงได้ใช้สถานที่ของภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ เป็นสถานที่ฝึกอบรม ส่วนการอบรมการเขียนโปรแกรมนั้น สมาคมฯ ได้ขอเช่าเวลาเจาะบัตรจากสถาบันบริการคอมพิวเตอร์ จุฬาฯ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2527 สมาคมฯ จึงได้จัดซื้อระบบคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กไว้ใช้สำหรับการฝึกอบรม โดยได้นำมาติดตั้ง ณ ที่ทำการสมาคมฯ บุคลากรที่ได้รับการอบรมจากสมาคมฯ มีจำนวนมากกว่า 2,000 คน โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สวัสดิ์ แสงบางปลา เป็นผู้อำนวยการศูนย์วิชาที่เปิดฝึกอบรม ได้แก่ 1. INTRODUCTION TO COMPUTER 2. DATA PROCESSING 3. BASIC PRODRAMMING 4. FORTRAN PROGRAMMING 5. COBOL PROGRAMMING 6. RPG PROGRAMMING คณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดที่ 8 ภายใต้การบริหารงานของ ดร.ไพบูลย์ ลิมปพยอม นายกสมาคมฯ ได้รับพระกรุณาฯ จากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงรับเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์ของสมาคมฯ และเมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2531 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้เป็นสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ จนมาถึงปัจจุบันและในปี 2537 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงพระกรุณาฯ รับเป็นสมาชิก วิสัยทัศน์สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมชั้นนำทางวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง มีบทบาทเป็นที่รู้จักและยอมรับของสาธารณชนในการพัฒนาและเผยแพร่ความรู้ทางวิชาการ ส่งเสริมการค้นคว้า วิจัย เพื่อยกระดับความรู้ความสามารถในการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องของคนในชาติ


พันธกิจของสมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ส่งเสริมการศึกษา วิจัย ทางด้านวิธีใช้ การให้คำปรึกษาในการพัฒนาระบบและการผลิตระบบคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านวิชาการ การสอน วิวัฒนาการ ประสบการณ์และปัญหาของการใช้คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จัดให้มีการสัมมนา สาธิตและฝึกอบรม ตลอดจนการประยุกต์วิชาการคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในวิชาชีพสาขาต่าง ๆ ส่งเสริมและรับรองมาตรฐานวิชาชีพด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ให้กว้างขวางและเป็นประโยชน์ต่อสังคม เผยแพร่ความรู้ทางด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ที่มีหรือประสงค์จะใช้คอมพิวเตอร์อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นศูนย์กลางและเป็นตัวแทนการติดต่อกับสถาบัน องค์การสมาคมที่เกี่ยวข้องกับคอมพิวเตอร์ทั้งในและต่างประเทศ ปกป้องและรักษาประโยชน์ของประเทศชาติ สมาชิก และบุคลากรในวิชาชีพและธุรกิจคอมพิวเตอร์ของคนไทย สมาคมฯ มีกิจกรรมและให้ความร่วมมือกับองค์กรอื่น ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ดังนี้

1.จัดตั้งสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศจากการรวมตัวของ 3 สมาคม คือ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย สมาคมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย สมาคมธุรกิจคอมพิวเตอร์ไทย

2.เป็น 1 ใน 12 สมาคมที่ร่วมก่อตั้งสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย โดยมีที่ทำการอยู่ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3.เป็นสมาคมฯ ที่ร่วมก่อตั้งสมาพันธ์คอมพิวเตอร์แห่งภาคพื้นเอเชียอาคเนย์ (South East Asia Regional Computer Confederation)

4. ดำเนินการติดต่อขอทุนอบรมด้านคอมพิวเตอร์และรับสมัครสอบทุน CICC (The Center of International Cooperation for Computerization) ซึ่งอยู่ภายใต้ Ministry of International Trade and Industry โดยจัดสรรทุนให้กับประเทศไทย เป็นการฝึกอบรมและดูงานในประเทศญี่ปุ่นเป็นระยะเวลา 2 เดือน ทุกปี ให้กับสมาชิกและผู้สนใจทั่วไป

5. เป็นสมาชิกของ IFIP International Federation for Information Processing โดยมีการประกาศไปทั่วโลกว่า สมาคมฯ เป็นหน่วยงานแห่งเดียวในประเทศไทยที่เป็นสมาชิกของ IFIP ตามกฎบัญญัติของ IFIP

6. ร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือกบุคคลพิการเพื่อแข่งขันช่างฝีมือระดับอาชีพแห่งโลก (ABILYMPIC)ในพระบรมราชูปถัมภ์

7. ร่วมเป็นคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานรหัสภาษาไทย สำหรับ เครื่องคอมพิวเตอร์ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม

8. ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการบัญญัติศัพท์คอมพิวเตอร์ ราชบัณฑิตยสถาน

9. ร่วมเป็นคณะอนุกรรมการอำนวยการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์-โอลิมปิค ระหว่างประเทศ

10. ร่วมเป็นคณะกรรมการประสานและส่งเสริมการพัฒนาระบบสารสนเทศทางภูมิศาสตร์

11. ร่วมให้การสนับสนุนกับสมาคมสมาพันธ์เทคโนโลยีสารสนเทศแห่งประเทศไทยรับบริจาคคอมพิวเตอร์ที่ใช้แล้ว เพื่อเข้าร่วมโครงการ “ทสรช” อันเป็นโครงการพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารีฯ